วงดนตรี เครื่องดนตรี พื้นบ้านภาคใต้
โดย
คุณครูอิสรินทร์ ทาส่วย
โรงเรียนเขาสวนกวางวิทยานุกูล
ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้
ความเป็นมาของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้
ชนในกลุ่มของภาคใต้ของไทย
มีหลายเผ่าพันธุ์และมีหลายกลุ่ม ในอดีตมีการติดต่อค้าขาย มีความสัมพันธ์กับอินเดีย
จีน ชวา - มลายู ตลอดจนติดต่อกับคนไทยในภาคกลาง ที่เดินทางไปค้าขายติดต่อกันด้วย ในชนบทความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง
ลักษณะของ ดนตรีพื้นบ้าน จึงเป็นลักษณะเรียบง่าย ประดิษฐ์อย่างง่าย ๆ จากวัสดุใกล้ตัวมีการรักษาเอกลักษณ์
และยอมให้มีการพัฒนาได้น้อยมาก ดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิม น่าจะมาจากเผ่าพันธุ์ เงาะซาไก
ประเภทเครื่องตี โดยใช้ไม้ไผ่ลำขนาดต่าง ๆ กัน ตัดออกเป็นท่อน สั้นบ้างยาวบ้าง
ตัดปากของกระบอกไม้ไผ่ ตรงหรือเฉียง บ้างก็หุ้มด้วยใบไม้ กาบของต้นพืช ใช้บรรเลง
(ตี) ประกอบการขับร้องและเต้นรำ เครื่องดนตรี ค่อย ๆ พัฒนามาเป็นแตร กรับ
ซึ่งล้วนแล้วแต่มีมาแต่เดิมทั้งสิ้น
ในระยะต่อมาหลังจากมีการติดต่อ
การค้าขายกับอินเดียและจีน การถ่ายโยงวัฒนธรรมย่อมเกิดขึ้น
สังเกตได้อย่างชัดเจนจาก ทับ (กลอง) ที่ใช้ประกอบการเล่นโนรา
มีร่องรอยอิทธิพลของอินเดียอย่างชัดเจน และการมีอาณาเขตติดต่อกับชวา - มลายู
ภาษาและวัฒนธรรมทางดนตรี จึงถูกถ่ายโยงกันมาด้วย เช่น
แถบจังหวัดภาคใต้ที่ติดเขตแดน อาจกล่าวได้ว่าดนตรีพื้นบ้าน
ของภาคใต้มีอิทธิพลแบบชวา มลายูก็ยังไม่ผิด เช่น รำมะนา (กลองหน้าเดียว)
ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี
(พระเจ้าตากสินมหาราช) เมืองนครศรีธรรมราช มีความสัมพันธ์กับภาคกลางอย่างแนบแน่น และเป็นศูนย์กลางความเจริญ
ทางศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดง และดนตรี จนมีชื่อว่า “เมืองละคอน”
ในสมัยกรุงธนบุรีพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้นำละครจากเมืองนครศรีธรรมราช
ไปฝึกละครให้นักแสดงในสมัยนั้น จึงเป็นการถ่ายโยงวัฒนธรรม ด้านดนตรีกลับไปสู่
เมืองนครศรีธรรมราชด้วย เช่น ปี่นอก ซออู้ และซอด้วง
ความสำคัญของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้
ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ไดัรับใช้สังคมของชาวใต้
พอสรุปได้ดังนี้
1.
บรรเลงเพื่อความรื่นเริง คลายความเหน็ดเหนื่อย จากการทำงาน
ซึ่งจะบรรเลงควบคู่กันไป กับการละเล่นและการแสดงเสมอ เพราะดนตรีพื้นบ้านภาคใต้นั้น
จะไม่นิยมบรรเลงล้วน ๆ เพื่อฟังโดยตรง แต่จะนิยมบรรเลงประกอบการแสดง
2.
บรรเลงประกอบพิธีกรรม เพื่อบวงสรวง หรือติดต่อกับสิ่งลี้ลับ
เพราะในอดีตสังคมส่วนใหญ่ ติดอยู่กับความเชื่อเรื่องผี วิญญาณ เช่น มะตือรี
ของชาวไทยมุสสลิม โต๊ะครึม ของชาวไทยพุทธ ที่ใช้เพื่อบรรเลงในงานศพ
โดยมีความเชื่อว่าเป็นการนำวิญญาณสู่สุคติ การบรรเลงกาหลอ ในงานศพบทเพลงส่วนหนึ่ง
เป็นการบรรเลงเพื่ออ้อนวอนเทพเจ้า ดนตรีชนิดนี้จึงมุ่งให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์
มีอานุภาพให้เกิดความขลัง ยำเกรง
3.
ใช้บรรเลงเพื่อการสื่อสาร บอกข่าว เช่น การประโคมปืด และประโคมโพน
เป็นสัญญาณบอกข่าวว่าที่วัดมีการทำเรือพระ (ในเทศกาลชักพระ)
จะได้เตรียมข้าวของไว้ทำบุญ และไปช่วยตกแต่งเรือพระ หรือการได้ยินเสียงบรรเลงกาหลอ
ก้องไปตามสายลมก็บอกให้รู้ว่ามีงานศพ ชาวบ้านก็จะไปช่วยทำบุญงานศพกันที่วัดนั้น ๆ
โดยจะสืบถามว่าเป็นใคร ก็จะไปเคารพศพ โดยไม่ต้องพิมพ์บัตรเชิญ เหมือนปัจจุบันนี้
4.
ใช้บรรเลงเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เช่น
การบรรเลงกรือโต๊ะ หรือบานอโดยชาวบ้าน จะช่วยกันสร้างดนตรีชนิดนี้ขึ้นมา
ประจำหมู่บ้านของตน และจะใช้ตีแข่งขันกับหมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อเป็นการสนุกสนาน
และแสดงพลังความสามัคคี เพราะขณะที่จะมีการประกวดจะต้องช่วยกันทำ ถ้าแพ้ก็ถือว่าเป็นการปราชัยของคนทั้งหมู่บ้าน
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขัน ในโอกาสต่อไปก็จะต้องช่วยกันทำใหม่ ให้ดีกว่าเก่า
เครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้
1.
ประเภทดีด ในภาคใต้ไม่มีเครื่องดนตรีประเภทนี้ จะมีแต่ของพวกเงาะซาไก
ที่ใช้ไม้ไผ่ 1 ปล้องมากรีดเอาผิวของไม้ไผ่ให้ เป็นริ้ว ๆ
ทำหมอนรองริ้วผิวไม้ไผ่หลาย ๆ ริ้ว แล้วใช้นิ้วดีดหากพบการบรรเลงด้วยจะเข้ หรือพิณ
เป็นเครื่องดนตรีของภาคอื่น ที่เข้าไปในระยะหลัง ซึ่งไม่นับเป็นดนตรีพื้นบ้าน
ของภาคใต้
2.
ประเภทตี ของภาคใต้มีหลายชนิด ได้แก่
2.1
ทับ เป็นกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็งเอวคอดปากบาน
ท้ายเรียวบานออกเล็กน้อย ขึงด้วยหนังสัตว์หน้าเดียว ขึงหนังด้วยหวายรัดดึงให้ตึง มีหลายขนาดตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง
ด้านหน้า 5 นิ้ว ใช้บรรเลงประกอบ การแสดงหนังตะลุง เรียกว่า
ทับหนัง ขนาด 8 นิ้ว ใช้บรรเลงประกอบ การเล่นโนราเรียกว่า
ทับโนรา ขนาดใหญ่ 12 นิ้ว ใช้บรรเลงในการเล่นโต๊ะครึม
เรียกว่า ทับโต๊ะครึม
2.2
โหม่ง คือ ฆ้องคู่ทำด้วยโลหะ ใบเล็ก 1 ใบ ใบใหญ่
1 ใบ ประกอบอยู่ในกล่องไม้ให้เกิดเสียงก้อง
เวลาบรรเลงมีไม้ตีหุ้มยางหรือผ้า ไม่ให้เสียงแตกและมีไม้เนื้อแข็ง 4 เหลี่ยม 1 อัน เอาไว้สัมผัสกับหน้าโหม่งให้หยุดเสียง
ใช้บรรเลงประกอบการเล่นหนังตะลุง โนรา และลิเกป่า แต่เดิมใช้ไม้ทำโหม่ง เรียกว่า
โหม่งฟาก ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นหล่อด้วยเหล็ก และทองเหลือง มาโดยลำดับ เรียกว่า
โหม่งเหล็กและโหม่งหล่อ
2.3
กลอง มี 2 ลักษณะคือ หุ้มหรือขึงด้วยหนังสัตว์หน้าเดียว
และสองหน้า ได้แก่
2.3.1โทน หรือกลองทัด (คล้ายกลองเพลของภาคกลาง)
ปกติจะใช้ตีบอกเวลา และใช้ตีในเทศกาลออกพรรษา ใช้ประโคมเรือพระ (ชักพระ
และใช้ตีแข่งขันกันด้วยที่เรียกว่า แข่งโพน หรือ ชันโพน (ประชัน)
2.3.2
กลองตุ๊ก ลักษณะเหมือนกลองโนรา แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ขึงด้วยหนัง 2
หน้า ใช้บรรเลงประกอบ การแสดงหนังตะลุง
2.3.3
กลองโนรา จัดว่าเหมือนกลองตุ๊ก แต่ใหญ่กว่ามาก ขึงด้วยหนัง 2
หน้า ใช้บรรเลงประกอบการแสดงโนรา
2.3.4
กลองโทน หรือกลองแขก เป็นกลองที่ขึงด้วยหนังสัตว์ 2 หน้า หัวท้ายไม่เท่ากัน ขนาดยาว 60 - 70 เซนติเมตร ตีด้วยแขนงไผ่หรือหวาย
ตีได้ทั้ง 2 หน้า ใช้บรรเลงประกอบการเล่นกาหลอ ประกอบการแสดง
ซีละ และมะโย่ง
2.3.5
ปืด เป็นกลอง 2 หน้า ลักษณะคล้ายตะโพนของภาคกลาง
และมีขาตั้งเป็นไม้แบบตะโพนไทย ใช้ตีเวลาประโคม เรือพระเทศการลพรรษา
และใช้ตีแข่งขันที่เรียกว่า แข่งปืด หรือ ชันปืด (ประชัน)
2.3.6
รำมะนา ขึงหน้ากลองด้วยหนังหน้าเดียว ตัวกลองสั้น
หน้ากลองกว้างมากขนาด 45 - 50 เซนติเมตร ตัวกลองหนาราว 14
- 70 เซนติเมตร ใช้ประกอบการเล่น ลิเกป่า ลิเกฮูลู มะโย่ง
และรองเง็ง
2.3.7
บานอ ลักษณะคล้ายรำมะนา แต่มีขนาดหน้าตัดใหญ่กว่ามาก
ขึงด้วยหนังสัตว์หน้าเดียว หน้ากลองนิยมเขียนลวดลาย ด้วยสีสันสวยงาม ใช้ตีพร้อม ๆ
กันหลาย ๆ ลูก และ ใช้แข่งขันกัน
2.4
เครื่องตีที่ทำด้วยไม้ล้วน ๆ และเครื่องประกอบจังหวะ
2.4.1
กรือโต๊ะ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งขุด เป็นทรงคล้ายกระโถน
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-25 เซนติเมตร เรียกว่า ตัวกรือโต๊ะ
และบนปากของตัวกรือโต๊ะ จะใช้ไม้เนื้อแข็งหนายาวกว่าตัวกรือโต๊ะพาดอยู่ เจาะรูตรงกลางให้ตรงกับปากของตัวกรือโต๊ะ
และมีสลักไม้ 4 ด้าน กั้นอยุ่มีแผ่นไม้วาง ขนาดยาว 40
- 70 เซนติเมตร วางอยู่เรียกว่า เด๊าว์ หรือใบ เวลาตีใช้ไม้พันยางเพื่อให้มีแรงสั่นสะเทือน
ตีลงบนใบ เสียงก็จะก้องลงไปยังตัวกรือโต๊ะ นิยมใช้แข่งขันกันเท่านั้น
เรียกว่าแข่งกรือโต๊ะ
2.4.2
ฆ้อง ทำด้วยโลหะหล่อ ใช้บรรเลงประกอบการเล่นกาหลอ มะโย่ง ซีละ
โนราแขก และลิเกป่า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25 - 30 เซนติเมตร
2.4.3
แตระ แกระ หรือซีแระ ทำด้วยไม้ไผ่เกิดเสียงด้วยการกระทบกัน
ใช้ตีประกอบการเล่นโนรา โนราแขก และมะโย่ง
2.4.4
หรับ และฉิ่ง ใช้ตีประกอบดนตรี หนังตะลุงและโนรา
3.
ประเภทเป่า ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ประเภทเครื่องเป่ามีดังนี้
3.1
ปี่ต้น นิยมใช้บรรเลงประกอบ การแสดงในโนราสมัยโบราณ
(ปัจจุบันไม่นิยม)
3.2
ปี่กลาง หรือเรียกว่า ปี่หนังตะลุงปี่โนรา ใช้ประกอบการ
แสดงหนังตะลุงและโนราใน ปัจจุบันลักษณะตัวปี่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เจาะรูยาวตลอด ตัวปี่มีรูสำหรับปิดเปิดเสียง
ประกอบด้วยลิ้นปี่ (เหมือนปี่ใน)
3.3
ปี่ห้อ หรือปี่ฮ้อ ใช้บรรเลงในวงดนตรีกาหลอ หรือเรียกว่า ปี่กาหลอ
4.
ประเภทสี ได้แก่
4.1
ซอด้วง ชาวภาคใต้บางกลุ่ม เรียกซออี้ ใช้บรรเลงประกอบ
การแสดงโนราและหนังตะลุง ลักษณะเหมือนซอด้วง ของภาคกลาง แต่กะโหลกซอ
จะใหญ่กว่าของภาคกลาง มี 2 สายเช่นเดียวกัน
4.2
ซออู้ ใช้ประกอบการแสดง โนราและหนังตะลุง ลักษณะเหมือนซออู้ภาคกลาง
มี 2 สาย เวลาบรรเลงจะเป็นตัว ช่วยทำให้เสียงอื่นที่แหลมลดลง
เป็นการประสานเสียงที่ดี
4.3
ซอฆือปะ เหมือนซอสามสาย ของภาคกลางใช้บรรเลง ประกอบการเล่นมะโย่ง
มะตือรีและโนราแขก
ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้
1.
เครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้ ส่วนใหญ่ และดั้งเดิม
จะเป็นเครื่องตี และที่จัดได้ว่าเป็นเครื่องสำคัญ คือทับ รำมะนา กลอง และโหม่ง
รองลงมาคือ เครื่องเป่า เครื่องสี เครื่องดีด เกือบจะไม่มีบทบาทเลย
2.
ผู้บรรเลงผู้เล่น จะเป็นแต่ชายล้วน เพราะถือว่าการเล่นดนตรีเพื่อพิธีกรรม
ถ้าหญิงเล่นจะคลายความศักดิ์สิทธิ์ไป และเครื่องดนตรีบางอย่างต้องใช้แรงมาก
3.
วัตถุประสงค์ในการเล่นที่สำคัญ คือ เพื่อประกอบพิธีกรรม
รองลงมาคือเพื่อความรื่นเริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น